วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ประชุมเชิงปฏิบัติการ (๔ ภูมิภาค) เกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาตามพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง

วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕ นางกอบกุล อาภากร ณ อยุธยา ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา ติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการศึกษา พร้อมคณะ ลงพื้นที่ศึกษาดูงานและประชุมเชิงปฏิบัติการ เกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาตามพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง

โดยมีนายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล นายสมพงศ์ พละไชย ศึกษาธิการจังหวัดสตูล ,หัวหน้าส่วนราชการ ผู้อำนวยการและผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้อำนวยการโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมร่วมให้การต้อนรับและประชุม

สำหรับการลงพื้นที่ดังกล่าว เป็นการลงพื้นที่เพื่อศึกษาดูงานและประชุมเชิงปฏิบัติการซึ่งคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาได้ลงพื้นที่ใน ๔ ภูมิภาค โดยพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้เป็นภูมิภาคที่ ๓ ที่มีการลงพื้นที่ ได้แก่ จังหวัดสตูล สงขลา และจังหวัดตรัง ทั้งนี้เนื่องจากจังหวัดสตูลมีความโดดเด่นด้านพื้นที่นำร่องนวัตกรรมการศึกษา โดยให้อิสระกับโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรม ได้บริหารจัดการการเรียนการสอน มีจุดเน้นในการใช้ทุนของจังหวัดสตูลที่สำคัญคือ การเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม อุทยานธรณีโลกสตูล และนวัตกรรมการจัดการศึกษาด้วยกระบวนการเรียนรู้โครงงานฐานวิจัยเป็นรากฐานของการสร้างคนรุ่นใหม่เพื่อตอบโจทย์อนาคตของพลเมือง จากโรงเรียนนำร่องในช่วงแรกจำนวน ๑๐ โรงเรียน ตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ จวบจนปัจจุบันมีโรงเรียนที่เข้าร่วมเป็นโรงเรียนนวัตกรรมการศึกษาแล้วรวม ๑๖ โรงเรียน เป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล จำนวน ๑๒ แห่ง สังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดสตูล จำนวน ๒ แห่ง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสงขลา สตูล จำนวน ๑ แห่ง และสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล จำนวน ๑ แห่ง

ด้านประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา ติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการศึกษา กล่าวชื่นชมจังหวัดสตูล ซึ่งมีความโดดเด่นด้านนวัตกรรมการศึกษา ซึ่งจากลงพื้นที่ศึกษาดูงานและประชุมเชิงปฏิบัติการฯ พบว่า จังหวัดสตูล สามารถขับเคลื่อนนวัตกรรมการศึกษาผ่านกลไกจากความสนใจของนักเรียน ผ่านโครงงานฐานวิจัย , การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ , การเรียนรู้ภูมิสังคม และการเรียนรู้ด้วยครูสามเส้า ซึ่งเป็นการสร้างและพัฒนากลไกความร่วมมือทุกภาคส่วน และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เด็กได้ตั้งเป้าหมาย ได้คิด ทำ นำเสนอ สะท้อน จากความสนใจของตัวเด็กเอง สู่การค้นหาและเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ต่อในอนาคต.

ภาพ/ข่าว : จริงใจ สุวรรณจุณี นักประชาสัมพันธ์

ข่าวกิจกรรม ภารกิจผู้บริหาร

No data was found